การก่อตั้งอาเซียน
สมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือสมาคมอาสา (Association of South-East Asia : ASA) ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2504 โดยมีสมาชิก 3 ประเทศได้แก่ ฟิลิปปินส์ สหพันธ์มลายา และไทย เป้าหมายหลักเพื่อช่วยเหลือกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
อาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยการลงนามในปฏิญญาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Declaration of ASEAN Concord) หรือที่รู้จักอีกชื่อหนึ่งว่าปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) โดยผู้แทนประเทศสมาชิกที่ร่วมนามก่อตั้งอาเซียนมี 5 ประเทศ ได้แก่ นายอาดัม มาลิก รัฐมนตรีต่างประทศอินโดนีเซีย ตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาแห่งชาติมาเลเซีย นายนาซิโซ รามอส รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ นายเอส ราชารัตนัม รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ และพันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันต์ รัฐมนตรีต่างประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510 ณ วังสราญรมย์ กรุงเทพมหานคร
ในเวลาต่อจากนั้น ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลามเข้ามาเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2527 เวียดนามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2538 ลาวและพม่าเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2540 และกัมพูชาเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2542 เมื่อรับกัมพูชาเข้ามาเป็นสมาชิกทำให้อาเซียนมีสมาชิกครบ 10 ประเทศ
ทั้งนี้ การเข้าร่วมของประเทศสมาชิกใหม่เหล่านี้สอดคล้องกับปฏิญญาอาเซียน ซึ่งระบุไว้ว่าอาเซียนพร้อมรับทุกประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พร้อมที่จะรับเป้าหมาย หลักการและวัตถุประสงค์ขององค์กรเป็นสมาชิก
รูปภาพการลงนามปฏิญญาอาเซียน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น